เกี่ยวกับโครงการ

ที่มาของโครงการ

สืบเนื่องจากความรุนแรงของสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยทั่วกัน มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า PM 2.5 สามารถสะสมในถุงลมฝอยของปอดและสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 (Cohen, 2017) นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โดยเกิดจากมลพิษจากอากาศภายนอกอาคาร (Ambient Air) 4.2 ล้านคน โดยร้อยละ 91 เกิดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกส์ตะวันตก) WHO, 2018a สำหรับในประเทศไทยเองพบรายงานล่าสุดถึงจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ผ่านกลุ่มระบาดวิทยา กลุ่มควบคุมโรคในเขตเมือง โดยทางเชียงใหม่ กรมควบคุมโรค ได้รายงานผ่านเว็บไซต์ว่าจากการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะหมอกควันในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ในระหว่างวันที่ 10 – 16 ก.พ. 2562 พบว่า 8 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบไปด้วย เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน และลำพูน มีข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค จำนวนทั้งสิ้น 26,614 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 707.28 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มโรคที่มีรายงานสูงสุดได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด รองลงมาได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ โดยมีอัตราป่วย 360.18, 295.25, 27.35 และ 24.50 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้แก่ เด็ก และ ผู้สูงอายุ…

พื้นที่ศึกษา

เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่

แนวคิดโครงการ

สร้างการเรียนรู้และการสื่อสารสู้ภัยฝุ่น ” ระบบธงสุขภาพ “…

ความเป็นมาหลักการและเหตุผล

สืบเนื่องจากความรุนแรงของสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยทั่วกัน มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า PM 2.5 สามารถสะสมในถุงลมฝอยของปอดและสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 (Cohen, 2017) นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โดยเกิดจากมลพิษจากอากาศภายนอกอาคาร (Ambient Air) 4.2 ล้านคน โดยร้อยละ 91 เกิดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกส์ตะวันตก) WHO, 2018a สำหรับในประเทศไทยเองพบรายงานล่าสุดถึงจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ผ่านกลุ่มระบาดวิทยา กลุ่มควบคุมโรคในเขตเมือง โดยทางเชียงใหม่ กรมควบคุมโรค ได้รายงานผ่านเว็บไซต์ว่าจากการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะหมอกควันในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ในระหว่างวันที่ 10 – 16 ก.พ. 2562 พบว่า 8 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบไปด้วย เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน และลำพูน มีข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 กลุ่มโรค จำนวนทั้งสิ้น 26,614 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 707.28 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มโรคที่มีรายงานสูงสุดได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด รองลงมาได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดทุกชนิด กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ โดยมีอัตราป่วย 360.18, 295.25, 27.35 และ 24.50 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้แก่ เด็ก และ ผู้สูงอายุ

จากรายงานสถานการณ์ PM 2.5 ของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยของกรมควบคุมมลพิษปี พ.ศ. 2562 พบว่าค่า PM2.5 มีค่าสูงสุดสามลำดับแรกได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ และ จังหวัดลำพูน ในขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนวันที่ค่า PM 2.5 มีค่าเกินค่ามาตรฐานสามลำดับแรกได้แก่ จังหวัดลำปาง เชียงราย น่าน และจังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะหมอกควันหรือค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยก็คือไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษจากการใช้ยวดยานพาหนะ (มงคล, 2553) และจากภาคอุตสาหกรรม โดย เจียมใจ เครือสุวรรณ และคณะ (2551 อ้างใน มงคล, 2553) พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กร้อยละ 50 – 70 มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่าและการเผาพื้นที่การเกษตร และจากเครื่องยนต์ดีเซลประมาณร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือเป็นฝุ่นที่พัดพามาจากแหล่งอื่น


อย่างไรก็ตามจากการศึกษาของ นิอร และ ศราวุธ (2555) พบว่าปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมการเผาของภาคการเกษตร คือการเผาพื้นที่เกษตรในพื้นที่ป่า ซึ่งสอดคล้องกับ ศุทธินี ดนตรี และคณะ (2554) บางพื้นที่ฝุ่นที่พัดพามาจากแหล่งอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าบางพื้นที่ยังได้รับผลกระทบมลพิษทางอากาศจากการเกิดไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย (Manomaiphiboon, 2007; Leelasakultum, 2009) การติดตามการเกิดไฟหรือที่เรียกว่า “Hotspots” ได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี1998 โดย AVHRR (Advanced Very High Resolution Radiometer) (Justice et al, 1998) อย่างไรก็ตามได้มีการพัฒนาระบบดังกล่าวมาเรื่อยๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา จนปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการตรวจพื้นที่เผาและจุดความร้อนดาวเทียมในระบบ MODES (The Moderate Resolution Imaging Spector- radiometer) ซึ่งทำการบันทึกภาพในระบบหลายช่วงคลื่น (Justice et al., 2002; Giglio et al., 2003) โดยการสร้างเงื่อนไขทางคณิตศาสตร์ให้กับช่วงคลื่นอินฟาเรด โดยการเปรียบเทียบค่าความสว่างของจุดภาพที่ปรากฏกับข้างเคียง (Giglio, Descloitres, Justice & Kaufman, 2003) ระบบการตรวจจับจุดความร้อนที่ตรวจด้วยดาวเทียมในระบบ MODIS นี้แสดงผลในขนาดของจุดภาพ 1 กิโลเมตร โดยระดับความเชื่อมั่น (confidence) ของการที่จะเป็นไฟจริงในพื้นที่นั้นแสดงตั้งแต่ 0% to 100% (Giglio et al., 2003). โดยทำการจำแนกกลุ่มจุดความร้อนนี้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆคือ ความน่าเชื่อถือต่ำ คือ มีค่าระดับความเชื่อมั่นน้อยกว่า 30% ความน่าเชื่อถือขนาดกลางคือ มีค่าระดับความเชื่อมั่นระหว่าง 30% – 80% และความน่าเชื่อถือมากที่สุด คือ มีค่าระดับความเชื่อมั่นมากกว่า 80% โดยการเลือกใช้จุดความร้อนที่มีความเชื่อมั่นสูงนี้ จะช่วยลดค่าความผิดพลาดต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ (Giglio, Kendall and Tucker 2010) ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้จุดความร้อนในระบบดาวเทียม MODIS นี้ในการติดตามการเกิดไฟในหลายพื้นที่ทั่วโลก และได้มีการตรวจสอบความถูกต้องระหว่างจุด hotspot ที่ปรากฏจากภาพถ่ายดาวเทียมกับพื้นที่จริงพบว่าส่วนใหญ่แล้วจุด hotspot ที่ปรากฏในภาพถ่ายดาวเทียมกับพื้นที่จริงมักจะตรงกันเสมอ

ภาพที่ 1 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของค่า PM2.5 สูงสุดและจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานรายจังหวัด สีแดงค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของค่า PM2.5 สีน้ำเงินจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานรายจังหวัด ที่มา : ดัดแปลงจากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ, 2562

ภาพที่ 2 สถิติการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ประจำปี 2562 และจุดความร้อน 9 จังหวัดภาคเหนือ ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2562

สถานการณ์การเกิดจุดความร้อนจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2562 แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์การเผาที่เพิ่มมากขึ้นทุกพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ และจังหวัด แม่ฮ่องสอน (ภาพที่ 2) ผลกระทบของไฟป่าหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา พบว่าโดยเฉลี่ยประมาณ 100,000 รายต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้ป่วยที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากรายงานกรมควบคุมโรคที่ 10 พบว่า วันที่ 15 มีนาคม 2550 จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2550 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลในสังกัด 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน และกาญจนบุรี ทั้งหมด 57,765 ราย เฉลี่ยวันละ 7,220 ราย กว่าร้อยละ 90 เป็นโรคทางเดินหายใจทั่วๆ ไป อาการไม่รุนแรง โดยมีผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย 18,412 ราย รองลงมาคือ ลำพูน 13,936 ราย และเชียงใหม่ 8,399 ราย (สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ,2550) ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงรายที่รายงานว่า ในช่วงเดือนมีนาคมตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมานั้น มียอดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉลี่ย 2,200 คนต่อวัน (สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ,2550) โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะหมอกควันที่ปกคลุมทั่วทั้งจังหวัดผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แสบตา เป็นต้น ปัจจุบันจะเห็นว่าสถานการณ์หมอกควันยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2562 พบว่าโดยเฉลี่ยวันละเกือบ 2 หมื่นราย อย่างไรก็ตามพื้นที่ๆต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือพื้นที่ๆพบการเผามากที่สุด อันได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และ จังหวัดเชียงราย (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2562)
ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ และมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ และในพื้นที่วิกฤตโดยการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันในทุกภาคส่วน (กรมควบคุมมลพิษ, 2562) ดังนั้นเพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงอย่างกลุ่มเด็กที่อาศัยในพื้นที่มีการพบการเผาเป็นปริมาณมาก ซึ่งร่างกายต้องรับกับปริมาณฝุ่นละอองพิษอันเกิดจากการเผาในที่โล่งเป็นประจำ ก่อให้เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของ “โครงการสร้างการเรียนรู้และการสื่อสารสู้ภัยฝุ่น เพื่อการปกป้องด้านสุขภาพในโรงเรียนต่อภาวะวิกฤตปัญหาฝุ่นละออง” ใน 3 พื้นที่ต้นแบบ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทั้งสามจังหวัดถือได้ว่าเป็นพื้นที่วิกฤตและมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยเป็นพื้นที่ๆ พบจุดความร้อนมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยและเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดค่าฝุ่นละอองสูงอันส่งผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆในโรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ๆเด็กมารวมตัวกันและใช้เวลาส่วนมากในโรงเรียน ดังนั้นหากทางโรงเรียนได้มีการติดตามคุณภาพอากาศในแต่ละวัน แบบทันทีทันใด (Real Time) ก็จะทำให้โรงเรียนสามารถทราบถึงระดับฝุ่นในโรงเรียนและสามารถออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม เช่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง ปรับเปลี่ยนการเรียนวิชาพละในห้องปิด ประกาศให้นักเรียนอยู่ในพื้นที่ห้องปลอดภัย (Safe Zone) ตลอดจนออกแบบการเรียนรู้เรื่องภัยฝุ่นนี้ในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสถานการณ์วิกฤตและสามารถปกป้องตนเองอย่างปลอดภัยได้ ด้วยการยอมสวมหน้ากากอนามัย จนทำให้เกิดเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลดผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างทันท่วงที พร้อมกันนี้เด็กนักเรียนยังสามารถส่งต่อความรู้ให้คนในครอบครัวสามารถรับมือกับสภาวะฝุ่นวิกฤตนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยโครงการนี้มุ่งเน้นในการสร้างกลไกลการรับมือด้านสุขภาพกับปัญหาฝุ่นในโรงเรียนสู่การร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่น โดยให้โรงเรียนเป็นแกนกลางในการสร้างองค์ความรู้และกิจกรรมต่างๆ โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางและมีการเชื่อมโยงกับชุมชนผ่านความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยการกำหนดนโยบายการรับมือกับฝุ่นวิกฤตในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมผ่านข้อบัญญัติของท้องถิ่นสู่การนำเสนอนโยบายในระดับประเทศต่อไป
โครงการนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือหลายภาคส่วนในพื้นที่เพื่อร่วมกันศึกษาและสร้างพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับค่าฝุ่นวิกฤตในโรงเรียน ตลอดจนความเป็นไปได้ของการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องฝุ่นกับสุขภาพในระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ประถม 4 – ประถม 6) รวมถึงความเป็นไปได้ของการเสนอนโยบายฝุ่นกับการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป การบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆประกอบไปด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับ สมาคมยักษ์ขาวซึ่งจะสนับสนุนเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็ก และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดของทั้งสามจังหวัด ในการคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ละ 10 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 30 โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรแพลนอินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย The North (องศาเหนือ) หอการค้า สภาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และป้องกันและบรรเทาสาธารภัยในจังหวัด โดยมุ่งหวังร่วมกันสร้างพื้นที่ต้นแบบในโรงเรียนในการรับมือกับฝุ่นในพื้นที่วิกฤต ตลอดจนเสนอนโยบายเรื่องฝุ่นกับการศึกษา รวมถึงการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องฝุ่นและภัยของฝุ่นผ่านกระบวนการออกแบบชุดความรู้ที่สามารถใช้ในจริงในโรงเรียนโดยใช้วิธีการออกแบบชุดความรู้จากประสบการณ์จริงในการเผชิญฝุ่นละอองที่มีค่าเกินมาตรฐาน ผ่านการสื่อสารด้วยระบบ “ธงสุขภาพ” โดยยึดหลักการใช้สีธงตามระดับสีของค่า PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ (ภาพที่ 3) เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่นักเรียนในพื้นที่ที่จะสามารถปรับตัวและเพื่อเป็นการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองในยามที่เกิดวิกฤตด้านฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของตนเองได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการและการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันในการสื่อสารสถานการณ์ระดับฝุ่นละอองในพื้นที่ต่อสาธารณะ ด้วยการส่งเสริมคุณครูในโรงเรียนพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ข้างเคียงในการเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร ร่วมกับ ทีมสื่อสารจากผู้มีประสบการณ์เช่น The North (องศาเหนือ) เพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ และนำส่งการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ร่วมกันต่อไป นอกจากนี้การดำเนินการทั้งหมดยังรวมถึงการศึกษานโยบายการรับมือกับฝุ่นในภาวะวิกฤตในสถานศึกษาอีกด้วย โดยการดำเนินการทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมาตรการในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 มาตรการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้อีกด้วย (กรมควบคุมมลพิษ, 2562)

นิยามศัพท์

พื้นที่วิกฤต หมายถึง พื้นที่ที่พบการเผาเป็นประจำ ปรากฏจุดความร้อน (Hotspot) จากภาพถ่าย ดาวเทียมเป็นประจำทุกปี

ฝุ่นวิกฤต หมายถึง ระดับค่า PM2.5 ที่มีค่าตั้งแต่ 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร

หลักสูตร กิจกรรมสู้ภัยฝุ่น

ผู้สนับสนุนโครงการ